30 07 62

จากเทือกเขาเหน็บหนาวบนเขตที่ราบสูงทิเบต หยดน้ำหยดแล้วหยดเล่าละลายจากหิมะมาผสมกับสายน้ำจากฟากฟ้าและผืนแผ่นดินรวบรวมกันจนกลายเป็นต้นกำเนิดสายนทีอันยิ่งใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ “แม่น้ำโขง”

นิทานปรัมปราของชาวไทยกับลาว สองพื้นถิ่นซึ่งใช้ประโยชน์จากลุ่มน้ำโขงมาช้านาน เล่าขานว่าแม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาละวินแห่งประเทศพม่ามีต้นกำเนิดมาจากที่เดียวกัน แต่ถึงคราวแยกจากเพราะพญานาคสองตนทะเลาะกัน หนึ่งตนเลือกเส้นทางใกล้กว่าแต่ผ่านหุบเขาผืนป่ารกทึบไร้ผู้คนเพื่อมุ่งหน้าสู่ท้องทะเลกลายเป็นแม่น้ำสาละวิน ขณะที่ตนหนึ่งเลือกเดินทางไกลผ่านที่ราบดินแดนของผู้คนหลากหลายอารยธรรม สร้างประโยชน์มหาศาลให้แก่มนุษย์ซึ่งก็คือแม่น้ำโขง

แต่นั่นก็เป็นเพียงเรื่องเล่าสนุกๆ ทีนี้ถึงเวลามารู้จักแม่น้ำโขงกันจริงๆ ก่อนแพ็กกระเป๋าไปเที่ยวกันดีกว่า

แม่น้ำโขงไหลผ่านหรือเป็นเส้นกั้นพรหมแดนประเทศน้อยใหญ่มากถึง 6 ประเทศ ตั้งแต่ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา ก่อนไหลลงสู่ทะเลจีนใต้ที่ประเทศเวียดนาม บริเวณปากแม่น้ำโขงตรงนั้นมีสามเหลี่ยมดินดอนยักษ์อันได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่ามีความหลากหลายทางชีววิทยาและธรณีวิทยาอย่างยิ่ง อีกทั้งตลอดเส้นทางของแม่น้ำโขงยังมีพันธ์ปลานับพันชนิด โดยเฉพาะปลาบึกซึ่งพบได้เพียงเฉพาะแม่น้ำสายนี้เท่านั้น จึงเป็นแม่น้ำที่สำคัญอย่างยิ่งในระดับโลก

ความยาวของแม่น้ำโขงวัดแล้วยาวตั้งราว 4,900 กิโลเมตร ติดอันดับ 10 ของแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลกพอดิบพอดี อยู่ในเขตประเทศจีนประมาณ 2,000 กิโลเมตร สำหรับประเทศไทยแม่น้ำโขงไหลมาหาเราจุดแรกที่สามเหลี่ยมทองคำอันลือลั่นในจังหวัดเชียงราย บริเวณดังกล่าวแม่น้ำโขงเป็นจุดแบ่งแยกประเทศถึง 3 ประเทศ คือ ไทย จีน และลาว

 

อำเภอแรกของไทยที่พนมมือสวัสดีงามๆ รับแม่น้ำโขงคืออำเภอเชียงแสน ต่อลงมาคือเชียงของ แม่น้ำโขงจุดนี้มีความเป็นธรรมชาติมากๆ เป็นเส้นทางท่องเที่ยวชมวิวงดงามสุดสายตา แต่จากนั้นแม่น้ำโขงต้องอำลาสยามประเทศไปชั่วคราวที่อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย จากกรณีพิพาทระหว่างเรากับฝรั่งเศสซึ่งเป็นเจ้าของอาณานิคมประเทศลาวในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนต้องเสียดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงไปเพื่อรักษาดินแดนใหญ่ของประเทศ

คนไทยได้เจอหน้าแม่น้ำโขงอีกครั้งที่ภาคอีสาน คราวนี้เป็นอำเภอเชียงคานซึ่งจัดงานเลี้ยงต้อนรับบริเวณปากแม่น้ำเหือง ปัจจุบันเชียงคานเป็นอำเภอท่องเที่ยวและอำเภอพักตากอากาศที่ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นเพราะความสวยงามของแม่น้ำโขงเป็นส่วนประกอบสำคัญนั่นเอง

นับจากอำเภอเชียงคาน แม่น้ำโขงกลายเป็นพรมแดนกั้นระหว่างไทยกับลาวยาวต่อเนื่องมากว่า 800 กิโลเมตร แม่น้ำแห่งพญานาคไหลผ่านทั้งเขตป่าเขียวขจี ภูเขาหินทรายสูงตระหง่านผ่านแหล่งชุมชนซึ่งยังคงวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นไว้เหนียวแน่น ผ่านเมืองใหญ่ซึ่งได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค ไล่มาตั้งแต่จังหวัดเลย หนองคาย กับ บึงกาฬ ที่แม่น้ำไหลจากทิศตะวันตกไปตะวันออก เข้าสู่ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ที่ไหลจากทิศเหนือลงทิศใต้ โดยจุดสุดท้ายซึ่งแม่น้ำโขงอำลาประเทศไทยคือบ้านเวินบึก อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอริมขอบแดนไทย-ลาว

ตลอดเส้นทางของแม่น้ำโขงมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจหลากหลายรูปแบบ อุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติ ภูผาหินมากมายก่อให้เกิดน้ำตกสวยยามหน้าฝน มีจุดชมวิวตระการตา ด้านประเพณีวัฒนธรรมมากมายจนเกินจะเอ่ยหมด ทุกพื้นถิ่นแต่งแต้มด้วยวิถีเฉพาะตัวไม่เหมือนใคร แถมยังมีสถานที่ศักดิ์สิทธ์จากหลายแหล่งในย่านลุ่มแม่น้ำโขง ดังนั้นใครลองได้เยือนแม่น้ำโขงสักครั้งมักต้องหลงรักหมดหัวใจทั้งสิ้น

นอกจากนี้แม่น้ำโขงในแต่ละห้วงเวลาของฤดูกาลยังมีความงดงามต่างกัน ยามหน้าฝนน้ำหลากสีปูนน้ำตาลอมแดง ส่วนสองฝากฝั่งเขียวขจีสดชื่น ยามหน้าแล้งน้ำลดระดับเผยให้เป็นแก่งหิน หาดหินทรายอันน่าอัศจรรย์มากมาย ระหว่างสองฤดูกาลนี้ระดับน้ำจะแตกต่างกันถึง 14 เมตร ขณะที่ฤดูหนาว สายหมอกจะลอยระเรี่ยคลุมห่มสายน้ำให้ความสดชื่นอีกบรรยากาศ

ด้วยความยิ่งใหญ่ หลากหลาย สวยงามน่าอัศจรรย์ เชื่อเถอะว่าคุณจะต้องเป็นอีกคนหนึ่งที่หลงรักแม่น้ำโขง ขอเพียงสักครั้งที่ได้มาเหยียบย่าง ณ ดินแดนแห่งนี้…

เครดิค : https://www.xn--72c5aba9c2a3b8a2m8ae.com/แม่น้ำโขง-ประวัติข้อมูล/