09 08 62

เขาว่ากันว่าถ้าอยากมีสุขภาพดีให้ดื่มน้ำแร่ ฟังต่อกันมาเลยอดสงสัยไม่ได้ว่า น้ำแร่กับน้ำเปล่าปกติที่เราดื่มทุกวัน จริง ๆ แล้วมีอะไรไม่เหมือนกันหรือ 
         
          เวลาเปิดตู้แช่จะซื้อน้ำเปล่าสักขวด เราจะเห็นราคาของน้ำแร่ที่วางขายอยู่แพงกว่าน้ำเปล่าธรรมดา ๆ อยู่หลายบาท ด้วยคำโฆษณาที่ทำให้คนเข้าใจกันว่า น้ำแร่ เป็นน้ำที่ดีต่อสุขภาพมากกว่าน้ำเปล่าทั่ว ๆ ไป แถมเวลาดื่มก็มักรู้สึกว่ารสชาติของน้ำแร่ต่างจากน้ำเปล่าด้วย แต่ความจริงเป็นเช่นไร น้ำแร่กับน้ำธรรมดาต่างกันตรงไหน จำเป็นต้องดื่มไหม สงสัยต้องไปหาคำตอบกับกระปุกดอทคอมกันดู 

น้ำแร่คืออะไรกันแน่ 

          น้ำแร่ก็คือน้ำบาดาลที่มาจากแหล่งธรรมชาติ อย่างน้ำพุธรรมชาติ น้ำพุร้อน ซึ่งที่มีแร่ธาตุละลายอยู่ในน้ำแล้ว ไม่ใช่การนำแร่ธาตุมาเติมในน้ำเอง โดยหลัก ๆ จะมีแร่ธาตุอยู่ 5 ชนิด คือ แคลเซียม โซเดียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม และกำมะถัน แต่จะมีแร่ชนิดไหนมากกว่าก็ขึ้นอยู่กับแหล่งของน้ำที่นำมา และรสชาติที่แตกต่างกันก็ขึ้นอยู่กับว่าน้ำนั้นมีแร่ธาตุอะไรมากกว่าเช่นกัน ถ้ามีรสเค็มก็เป็นเพราะมีโซเดียมมากกว่าแร่ธาตุอื่น ๆ 

 
ความจริงของน้ำแร่


รู้ไหม น้ำแร่ก็แบ่งได้เป็นหลายชนิด 

          น้ำแร่แบ่งออกได้เป็นหลายชนิดตามผลที่มีต่อร่างกายและฤทธิ์ในการบำบัดโรค คือ 

- น้ำแร่ไบคาร์บอเนต 

          มีปริมาณไบคาร์บอเนตมากกว่า 600 มิลลิกรัมต่อลิตร ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนของอาหารจากกระเพาะอาหารไปยังลำไส้เล็กให้เร็วขึ้น, กระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนในกระเพาะอาหาร, ช่วยเพิ่มปริมาณน้ำและเกลือแร่ให้แก่ร่างกาย ดังนั้นใครที่กำลังจะไปออกกำลังกาย หรือไปทำงานที่ต้องเสียเหงื่อ สามารถดื่มน้ำแร่นี้ได้ 500-700 มิลลิลิตร จะช่วยลดภาวะเลือดเป็นกรด 

น้ำแร่ซัลเฟต 

          มีปริมาณ ซัลเฟตมากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อลิตร ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ โดยเฉพาะในคนที่ท้องผู้กเรื้อรัง 

น้ำแร่ซัลเฟต-ไบคาร์บอเนต 

          ใช้รักษาภาวะที่การทำงานของถุงน้ำดีผิดปกติ, นิ่วในถุงน้ำดี, อาการหลังผ่าตัดถุงน้ำดี 

น้ำแร่ซัลเฟอร์, เกลือ-ไอโอดีน, เกลือ-โบรมีน-ไอโอดีน 

          ไม่นิยมดื่ม มักใช้กับอวัยวะภายนอกร่างกาย ใช้อาบ หรือสูดพ่นทางเดินหายใจ มีฤทธิ์บรรเทาอาการอักเสบของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง และบรรเทาอาการทางผิวหนังบางชนิด 

น้ำแร่ซัลเฟอร์และไบคาร์บอเนต 

          ใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน โดยจะลดระดับน้ำตาล อาการกระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย และช่วยลดความต้องการอินซูลิน นอกจากนี้น้ำแร่ไบคาร์บอเนต ยังช่วยลดภาวะเลือดเป็นกรดในผู้ป่วยเบาหวานได้ 

น้ำแร่คลอรีน (น้ำเกลือ) 

          มีปริมาณคลอไรด์มากกว่า 200 มิลลิกรัมต่อลิตร ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้และการหลั่งสารที่เกี่ยวข้องกับน้ำและอิเล็กโตรไลท์, กระตุ้นการหลั่งน้ำดี, บรรเทาอาการท้องผูก 

น้ำแร่แคลเซียม 

          มีปริมาณแคลเซียมมากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อลิตร เหมาะกับผู้ที่ต้องการแคลเซียมในปริมาณมากกว่าคนปกติ เช่น เด็ก หญิงตั้งครรภ์ สตรีวัยหมดประจำเดือน ผู้สูงอายุ 

น้ำแร่แมกนีเซียม 

          มีปริมาณแมกนีเซียมมากกว่า 50 มิลลิกรัมต่อลิตร ช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำดี 

          นอกจากนี้ยังมี น้ำแร่ฟลูออเรด, น้ำแร่เหล็ก, น้ำแร่โซเดียม, น้ำแร่เกลือต่ำ และน้ำแร่คาร์บอร์นิก

ความจริงของน้ำแร่


น้ำแร่ VS น้ำเปล่า ความเหมือนที่แตกต่าง 

          ต้องบอกว่า "น้ำเปล่า" กับ "น้ำแร่" ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากมาย เพราะน้ำเปล่าก็มีแร่ธาตุอยู่เหมือนกันค่ะ แต่มีในปริมาณน้อยกว่าน้ำแร่แค่นั้นเอง นี่คือความแตกต่าง 

เราจำเป็นต้องดื่มน้ำแร่ไหม ? 

          ด้วยความที่น้ำแร่มีปริมาณแร่ธาตุมากกว่าน้ำเปล่าธรรมดา ๆ ทำให้หลายคนเข้าใจว่า ถ้าอย่างนั้นดื่มน้ำแร่ก็น่าจะดีกับสุขภาพมากกว่าดื่มน้ำเปลาธรรมดาแน่ ๆ เลย เพราะจะได้รับแร่ธาตุมากกว่า 

          แต่ความจริงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำแร่ก็ได้ หากเราไม่ได้เจ็บป่วยหรือร่างกายขาดแร่ธาตุตัวใด เพราะร่างกายของเราได้รับแร่ธาตุวิตามินมาจากอาหารที่เราทานทุกวันอยู่แล้ว 

ความจริงของน้ำแร่


ใครบ้าง ? ต้องระวังเมื่อจะดื่มน้ำแร่ 

          ไม่ใช่ว่าทุกคนจะดื่มน้ำแร่ได้ เพราะยังมีคนอีกหลายกลุ่มที่ต้องระวังให้มาก ทางที่ดีหลีกเลี่ยงไปเลยดีกว่า เพื่อไม่ให้ได้รับแร่ธาตุบางอย่างมากเกินไป จนอาจเป็นอันตรายกับร่างกายได้ คือ 

          - คนที่มีความดันโลหิตสูง เพราะในน้ำแร่มีธาตุโซเดียมมาก จะทำให้ความดันโลหิตยิ่งสูงขึ้น 
          - หญิงตั้งครรภ์ เพราะทำให้แร่ธาตุโลหะหนักไปสะสมในตัวทารกได้ 
          - ผู้ที่มีปัญหาเรื่องไต หรือทางเดินปัสสาวะไม่ดี เพราะน้ำแร่อาจไปตกตะกอน ทำให้เกิดตะกรันนิ่วอุดท่อปัสสาวะ 
          - ผู้ป่วยโรคหัวใจ เพราะในน้ำแร่มีโพแทสเซียมสูง อาจทำให้หัวใจเต้นผิดปกติ 
          - เด็กเล็ก หากดื่มน้ำแร่มากเกินไป จะทำให้ร่างกายได้รับแร่ธาตุบางชนิดเกินปริมาณที่เหมาะสม และอาจมีปัญหาสุขภาพตามมา 
          - ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารปริมาณมาก 
          - ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจที่มีภาวะหลอดลมหดเกร็ง 

รู้ไว้...ก่อนซื้อน้ำแร่มาดื่ม 

          แม้ว่าเราจะไม่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มที่ต้องระวังเมื่อจะดื่มน้ำแร่ แต่ก่อนซื้อน้ำแร่ก็ต้องหยิบขวดขึ้นมาพลิกฉลากข้างขวดอ่านดูเสียหน่อยว่า น้ำแร่ขวดนั้นมีแร่ธาตุอะไรเป็นส่วนประกอบบ้าง แร่ธาตุเหล่านั้นเกินค่ามาตรฐานหรือไม่ เพราะถ้าเกินมาตรฐาน อาจทำให้ร่างกายมีแร่ธาตุนั้น ๆ ตกค้างอยู่มากเกินไปและเป็นอันตรายได้ ดังนั้นเราต้องจำค่ามาตรฐานของแร่ธาตุที่ร่างกายควรได้รับไว้บ้างค่ะ 

          - ธาตุเหล็ก ไม่ควรเกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อลิตร 
          - แมงกานีส ไม่เกิน 0.3 มิลลิกรัมต่อลิตร 
          - ทองแดง ไม่ควรเกิน 1.0 มิลลิกรัมต่อลิตร 
          - สังกะสี ไม่ควรเกิน 5.0 มิลลิกรัมต่อลิตร 
          - ซัลเฟต ไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร 
          - ฟลูออไรด์ ไม่ควรเกิน 1.0 มิลลิกรัมต่อลิตร 
          - ไนเตรท ไม่ควรเกิน 45 มิลลิกรัมต่อลิตร 
          - คลอไรด์ ไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อลิตร 

          สรุปได้ว่า น้ำแร่ก็คือน้ำที่มีแร่ธาตุมากกว่าน้ำเปล่าธรรมดาที่เราดื่มกันทุกวัน เราจะดื่มน้ำแร่หรือไม่ดื่มก็ได้ เพราะร่างกายของเราก็ได้รับแร่ธาตุจากการทานอาหารปกติอยู่แล้วค่ะ แต่ถ้าใครจะดื่มน้ำแร่ก็ไม่ว่ากัน เพียงแต่ต้องระวังว่าอย่าดื่มทุกวัน และอย่าดื่มมากเกินไป เพราะแร่ธาตุอาจไปสะสมในร่างกายจนเสียสมดุลได้ แบบนี้แทนที่จะไปบำรุงสุขภาพกลับไปกระตุ้นให้เกิดโรคแทน

เครดิค : https://health.kapook.com/view115501.html